พิมพ์
เขียนโดย Super User หมวด: เกี่ยวกับเรา ฮิต: 20590

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์และการทำนุ บำรุงศิลปวัฒนธรรมอันเป็นภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา นอกจากภารกิจด้านการจัดการเรียนการสอน/การผลิตบัณฑิต การวิจัยและการให้บริการวิชาการแก่สังคม ดังนั้น ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539) จึงได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมการศึกษา การสร้างองค์ความรู้ และการให้บริการทางวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมแก่สังคม โดยเสนอขออนุมัติบรรจุโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ในแผนพัฒนาการศึกษา ระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535- 2539) ของทบวงมหาวิทยาลัย โดยยกฐานะสาขาวิชาการละคอน ในคณะศิลปศาสตร์ ขึ้นเป็นโครงการจัดตั้ง ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยเห็นชอบให้บรรจุโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์เป็นโครงการใหม่ไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539)

        ต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ต่อ ทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อให้คณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณาให้ความเห็นชอบจัดตั้ง คณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นหน่วยงานตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2531 แต่คณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย (ในขณะนั้น) ในการประชุมครั้งที่ 11/2538 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2538 พิจารณาแล้วมีมติไม่อนุมัติให้จัดตั้งเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยให้ดำเนินการเป็นโครงการจัดตั้ง และให้สามารถจัดการเรียนการสอนในสาขาที่มีความพร้อมได้นอกเหนือจากสาขา วิชาการละคอนที่มีอยู่เดิม ดังนั้น ในปีการศึกษา 2539 โครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์จึงได้เปิดสอนหลักสูตรใหม่ซึ่งเป็นหลักสูตร ของโครงการจัดตั้ง คือ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการละคร และสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์  

            ต่อมาในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) และต่อเนื่องมาจน ถึงแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 9
(พ.ศ.2545-2549) โครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ยังไม่ได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาการศึกษา ระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 8 และฉบับที่ 9 ดังกล่าว ด้วยเหตุที่ว่าคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2540 วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2540 และวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 ได้มีมติให้ดำเนินมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ โดยสาระสำคัญของมาตรการดังกล่าว คือ การกำหนดให้ส่วนราชการระงับการขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่หรือขยายหน่วยงานภายใน กรมหรือหน่วยงานเทียบเท่ากรมขึ้นไป ซึ่งมติคณะ รัฐมนตรีดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อเนื่องจนถึงสิ้นแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดม ศึกษาฉบับที่ 9 คือ จนถึงปีงบประมาณ พ.ศ.2549

        ด้วยข้อจำกัดในการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์เป็นส่วนราชการดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้เสนอโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ต่อสภา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อพิจารณา ซึ่งสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในคราวการประชุมครั้งที่ 12/2544 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ได้พิจารณาแล้วมีมติให้จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ขึ้นเป็นหน่วยงานภายใน ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีการบริหารงานเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพ ซึ่งตามระเบียบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยการจัดตั้งและบริหารงานคณะ ศิลปกรรมศาสตร์ พ.ศ. 2544 ได้ กำหนดให้คณะศิลปกรรมศาสตร์เป็นหน่วยงานเพื่อการศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ในการจัดการเรียนการสอนและส่งเสริมวิชาการด้านศิลปกรรมศาสตร์ และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ตลอดทั้งการวิจัยและการให้บริการแก่สังคมและเพื่อประโยชน์ในการรับรองฐานะ ของคณะให้ถือว่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ มีสถานะเทียบเท่าคณะตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2531 ดังนั้นคณะศิลปกรรมศาสตร์ จึงถือว่าวันที่ 26 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันสถาปนาของคณะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา